ภาคอุตสาหกรรม “จีน” ที่เคยได้เปรียบจากแรงงานจำนวนมหาศาล กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่จากแนวโน้มประชากรที่ลดลง ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมจีนต้องหันไปพึ่งเทคโนโลยีอัตโนมัติและ “หุ่นยนต์” ในสายการผลิตมากขึ้น เพื่อรับมือกับปริมาณแรงงานที่หดหายไป
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า การนำเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมของจีนกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการติดตั้งระบบอัตโนมัติในสายการผลิตของโรงงานต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 มีการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากถึง 268,694 หน่วย ทะลุเป้าหมายของทางการจีนที่ตั้งเป้าผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้ได้ 260,000 หน่วย/ปี ภายในปี 2025 ขณะที่รายงานของ “สหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ” (ไอเอฟอาร์) ระบุว่า ในปี 2020 จีนมีสัดส่วนของหุ่นยนต์ต่อประชากรเป็นอันดับ 9 ของโลก ขึ้นมาจากอันดับที่ 25 ในปี 2015
“โจว หยิง” ผู้บริหาร บริษัท หูหนาน ไห่เหลียน เกรน แอนด์ ออยล์ เทคโนโลยี ผู้ผลิตเครื่องจักรการเกษตรระบุว่า เครื่องจักรอัตโนมัติของจีนเดิมต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันสามารถผลิตได้ภายในประเทศ 100% และมีราคาถูกลงมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงระบบอัตโนมัติได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ความต้องการผลิตสินค้าส่งออกที่มากขึ้น หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย รวมถึงความต้องการลดต้นทุนการผลิต มีส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการจีนหลายรายตัดสินใจปรับปรุงสายการผลิตด้วยการติดตั้งระบบอัตโนมัติในโรงงานมากขึ้น
“หู ไห่เฟิง” ผู้จัดการฝ่ายขาย “โรแก โรบอตติกส์” บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ในปักกิ่ง ระบุว่า “ผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดทำให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนทัศนคติจากการรอดูท่าที เป็นมานำเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้าไปใช้ในการสายการผลิตอย่างเร่งด่วน”
ขณะที่ทางการจีนเองก็ตั้งเป้าส่งเสริมให้มีการสร้างโรงงานอัจฉริยะต้นแบบ ที่มีการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิตทุกขั้นตอนให้ได้อย่างน้อย 500 แห่งภายในปี 2025
นอกจากปัจจัยความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ปัญหาจำนวนประชากรจีนที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจีนต้องเร่งนำเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ที่กำลังจะลดจำนวนลง
“หลัว จุน” หัวหน้าผู้บริหาร “สหพันธ์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องมืออัจฉริยะนานาชาติ” ของจีน ระบุว่า การพัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติมีความสำคัญสำหรับจีน ที่จะช่วยลดแรงกดดันจากจำนวนแรงงานที่หดตัวลง และช่วยรักษาสถานะผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ของโลกให้กับจีน
วารสาร “ไฟแนนซ์ แอนด์ เทรด อีโคโนมิกส์” เมื่อเดือน ส.ค. 2021 ประมาณการว่า ความหนาแน่นของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจีน จะอยู่ที่ 37 หน่วยต่อประชากรจีน 1,000 คนในปี 2050 ซึ่งจะสามารถทดแทนการขาดแคลนแรงงานมนุษย์ได้มากกว่า 50%
โดยประชากรวัยทำงานของจีนในปี 2050 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 814.86 ล้านคน หรือคิดเป็น 59.7% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนลดลงหากเทียบกับปี 2018 ที่มีประชากรจีนวัยทำงานถึง 993.57 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 71.2% ของประชากรทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักประชากรศาสตร์อย่าง “หวง เหวินเจิง” ผู้เชี่ยวชาญประจำมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ชี้ว่า แม้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยยกระดับการผลิตและซัพพลายเชนของจีน แต่ในระยะยาว เมื่อจำนวนประชากรลดลงก็มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การหดตัวของจีดีพีจากอัตราการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง ซึ่งเป็นความท้าทายที่หุ่นยนต์อาจช่วยได้เพียงเล็กน้อย
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-842440